The School for Future Citizens
  info@siba.ac.th
  02 939 3000

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

หน้าหลัก       รู้จักวิทยาลัยฯ       สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในพระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งอยู่เบื้องหลังของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อนายแพทย์กำหนดว่าพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (ครั้งยังเป็นเจ้าจอมสุวัทนา) จะมีพระประสูติกาล ภายในเดือนพฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยโสมนัส จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมรับพระประสูติกาลตามลำดับดังนี้

– ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อม (ลำปลาทอง) เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘

– มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยมีพระราชประสงค์อันปรากฎอย่ในข้อความบางตอนของคำประกาศพระบรมราชโองการว่า “เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีประสูติกาลในเบื้องหน้า”

– ทรงรับปรับปรุงพระราชนิพนธ์บทละครรำเรื่องพระเกียรติรถ ตอนกำเนิดพระเกียรติรถเป็นบทละครร้อง และทรงนำบทกล่อมที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้มาใส่ในตอนนี้ด้วย สันนิษฐานว่ามีพระราชประสงค์เพื่อแสดงในพระราชพิธีสมโภชเดือนพระราชกุมาร

อย่างไรก็ดีในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นจากวันฉัตรมงคลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร มีพระอาการอ่อนเพลียและปวดภายในพระนาภี ผู้ใกล้ชิดคาดว่าเนื่องจากตรากตรำในงานพระราชพิธีมาทั้งวันและยังต้องประทับ เสวยพระกระยาหารในงานพระราชทานเลี้ยงข้าราชสำนักในเวลาเย็นอีก แต่สาเหตุที่แท้จริงคือ การอักเสบของแผลที่เคยทรงรับการผ่าตัดพระอันตะ (ไส้ติ่ง) ที่ประเทศอังกฤษเมื่อประมาณ ๒๔ ปีมาแล้ว และพระอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว คณะแพทย์ต้องถวายการเจาะพระนาภีเพื่อสายยางนำพระบุพโพออกทิ้ง ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน คณะแพทย์ต้องถวายการเจาะจงพระนาภีเพื่อใส่สายยางนำพระบุพโพออกทิ้ง ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน คณะแพทย์จึงทราบว่าบาดแผลภายในได้กลายเป็นพิษเสียแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารต่างมีความเศร้าโศกและหวังจะให้ดำรงพระชนม์อยู่จนพระราชกุมารประสูติ

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีประชวรพระครรภ์ตั้งแต่คืนวันที่ ๒๓ จนรุ่งขึ้นวันที่ ๒๔ ก็ยังไม่มีพระประสูติกาล คณะแพทย์จึงถวายยาสลบแล้วใช้เครื่องมือแพทย์ช่วยจนเป็นผลสำเร็จ มีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๕ นาที

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็คลายพระกังวล และทรงพอพระราชหฤทัยที่เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี ถึงเวลาเที่ยงวันของวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระราชธิดามีพระชนม์ครบ ๑ วัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิญเสด็จพระราชธิดาเข้าเฝ้าที่ข้างพระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรพระราชธิดาแล้วทรงพระกันแสง เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควร เจ้าพระยารามราฆพเตรียมจะเชิญเสด็จพระราชธิดากลับที่ประทับ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหายพระทัยแผ่วลงและเสด็จสวรรคต เมื่อเวลา ๑ นาฬิกา ๔๕ นาที ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง

พระราชธิดาทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า เพียง ๑ วัน และยังไม่ได้รับพระราชทานพระนาม เมื่อมีพระชนม์ครบ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ และพระราชทานนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประทับอยู่ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ตั้งแต่ประสูติ คือวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน จนถึงเดือนมกราคม เจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงเชิญเสด็จไปประทับที่พระตำหนักซึ่งพระธิดาของท่านเคย ประทับและอยู่บริเวณใกล้กับตำหนักของท่านในพระบรมมหาราชวัง

เวลาผ่านไปประมาณปีครึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงว่าพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีที่วิ่งเล่น เพราะในพระบรมมหาราชวังไม่มีหมู่ต้นไม้ร่มรื่นเหมือนในพระราชวังสวนดุสิต ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเข้าไปประทับที่พระตำหนักสวนหงส์พระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระตำหนักนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชเทวีก่อนเสด็จออกไปประทับที่วังสระปทุม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สิริโสภาพัณณวดี เจริญพระชันษาขึ้น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงจัดการศึกษาถวาย ได้ทูลเชิญหม่อมเจ้าหญิงพิจิตราจิ ราภา เทวกุล พระอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีมาถวายพระอักษรที่พระตำหนัก

การศึกษาที่พระตำหนักสวนหงส์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๓ จนถึงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงเสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชินี โดยมีพระสหาย ๓ คน คือ ม.ร.ว.กอบศรี เกษมสันต์) จารุมณี เด็กหญิงโรสรินทร์ )เศวตศิลา) สามเสน และเด็กหญิงงามเฉิด (พึ่งบุญ ณ อยุธยา) อนิรุทเทวา ติดตามไปร่วมเรียนด้วย

อีก ๑ เดือนต่อมา คือ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เกิดความไม่สงบขึ้นระหว่างรัฐบาลและฝ่ายตรงกันข้าม คณะรัฐจึงเชิญเสด็จเจ้านายที่ประทับอยู่ในพระราชวังสวนดุสิตไปประทับในพระบรมมหาราชวังเพื่อความสะดวกในการถวายอารักขา แต่เมื่อเครื่องบินที่บินเข้ามาเพื่อการสู้รบประสบอุบัติเหตุตกลงในพระบรมมหาราชวังใกล้ที่ประทับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงเสด็จไปประทับกับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ที่วังสระปทุม

ต่อมาความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพ พรรณี พระบรมราชินี พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์จึงเสด็จพระราชดำเนินและเสด็จออกจากกรุงเทพฯ ไปประทับที่จังหวัดสงขลา สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีจึงโดยเสด็จพระราชดำเนินไปด้วย

เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เหตุการณ์สงบ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีจึงเสด็จกลับมาประทับที่วังสระปทุมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับไปประทับในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต พระตำหนักเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี

การศึกษาของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในพ.ศ. ๒๔๗๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ไม่ต่อเนื่องดีนัก ด้วยเหตุทางการเมืองและการย้ายที่ประทับหลายครั้ง

ในปลาย พ.ศ. ๒๔๗๗ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงดำราจะสร้างวังส่วนพระองค์ถวายพระราชธิดาบนที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ที่ริมถนนสุโขทัยตัดกับถนนนครราชสีมา ไม่ห่างจากพระราชวังสวนดุสิต เมื่อดำเนินการก่อสร้างตะหนักขนาดเล็กพร้อมเรือนไม้ของข้าราชบริพารเสร็จ ประทานนามว่า “วังสวนรื่นฤดี” (ขณะนี้เป็นสถานที่ราชการของกองทัพบก)

เมื่อย้ายมาประทับที่วังสวนรื่นฤดี ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็ยังเสด็จไปโรงเรียนราชินีตามเดิมแต่การเรียนไม่สู้จะเป็นผลดีนักเพราะพระอนามัยไม่สมบูรณ์ และอาจเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงกระทบกระเทือนพระองค์มากเกินไป ในที่สุดจึงทรงลากออกจากโรงเรียนราชินีเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยทรงศึกษากับพระอาจารย์ทั้งไทยและต่างประเทศเป็นการส่วนพระองค์ที่พระตำหนัก การเยนจัดตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) มีตารางสอนครบทุกสายวิชา พระอาจารย์ชาวต่างประเทศมักจะนำเด็กชาติอังกฤษ นอกจากวิชาสามัญแล้ว ทรงเรียนการเล่นเปียโน โปรดการขับร้องเพลงไทยและเพลงสากล ทรงเล่นกีฬา เช่น โครเกต์ โปรดการฝีมือ เช่น การถักนิตติ้ง

วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนาม เป็น “สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” ทรงศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ จนมีพระชนม์ย่างเข้า ๑๓ พรรษา จึงเสด็จไปทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ

เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ พระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระมารดาโดยรถไฟขบวนพิเศษไปปีนัง จากนั้นประทับเรือเดินสมุทรชื่อ “ยุตแลนเดีย” ต่อไปยังเมืองมาร์เซลส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเรือมาถึงมาร์เซลส์ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ (สมัยนั้นเปลี่ยน พ.ศ. ขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีคอยรับเสด็จอยู่ที่ท่าเรือ ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในประเทศฝรั่งเศสเพื่อพักผ่อนและทอดพระเนตรสถานที่สำคัญระยะหนึ่ง แล้วเสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระเจ้าพี่นางเธอ และพระราชชนนีที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงเสด็จไปยังประเทศอังกฤษ ประทับที่พระตำหนักแฟร์ฮิลล์ แคว้นแคมเบอร์ลีย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดเตรียมไว

สองปีแรกที่ประทับที่พระตำหนักแฟร์ฮิลล์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและเปียโน การประทับที่ประเทศอังกฤษทำให้ทรงมีโอกาสรู้จักคนไทยซึ่งเป็นนักศึกษา ข้าราชการ และนักธุรกิจที่อยู่ในประเทศอังกฤษ ตลอดจนผู้ที่ผ่านประเทศอังกฤษ เพื่อเดินทางไปหรือกลับมาจากประเทศอื่นมากขึ้นทุกปี เพราะการเฝ้าฯ สะดวกกว่าเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องมีพิธีการเข้มงวดกว่าทั้งพระพลานามัยก็แข็งแรงขึ้น ทรงมีอิสระในการเสด็จไปตามที่สาธารณะ ชายทะเล และชนบทได้บ่อบและสะดวกกว่าเวลาที่ประทับในประเทศไทย

การศึกษาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในประเทศอังกฤษเน้นไปทางภาษาอังกฤษและดนตรี ส่วนวิชาอื่นๆ โปรดวิชาภูมิศาสตร์สนพระทัยเรื่องความเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ลมฟ้าอากาศ ทรงจำทิศทางของสถานที่ซึ่งเคยเสด็จได้แม่นยำ

นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการคำนวณปฏิทินอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องทรงใช้กระดาษเขียน เช่น ทูลถามว่า วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับวันอะไร จะทรงตอบได้โดยเร็วว่าวันเสาร์ และจะทรงบอกได้ว่ามี พ.ศ. ใดอีกที่วันที่ ๑ มกราคม จะตรงกับเสาร์ พระองค์ทรงจำได้หมดว่าวันที่ ๑ ของเดือนทั้ง ๑๒เดือนจะตรงกับวันอะไร ทรงคำนวณปฏิทินระหว่าง ๓๐๐-๔๐๐ ปี ทั้งที่ล่วงมาแล้วและในอนาคต ทรงมีความจำแม่นยำมากในเรื่องตัวเลข เช่น วัน เดือน ปีเกิดของผู้ที่ทรงถาม เมื่อทรงทราบแล้วจะทรงจำได้อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังทรงจำเหตุการณ์สำคัญๆ ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษระหว่างย่างเข้าปีที่ ๒ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่ออังกฤษถูกโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง ต้องทรงอพยพจากที่ประทับหลายครั้ง ทรงผจญต่อความยากลำบาก ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นชาวอังกฤษทั่วไป

เมื่อสงครามโลกยุติลงได้ประทับในประเทศอังกฤษอีกระยะหนึ่ง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จึงเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กลับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒

รวมเวลาที่ประทับในต่างประเทศ ๒๒ ปี ทรงสร้างวังที่ซอยสันติสุข ถนนสุขุมวิท ประทานนามว่า วังรื่นฤดีเหมือนชื่อวังแห่งแรกที่ถนนสุโขทัย

การเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทย นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ครั้งใหญ่ของพระองค์ ความมีอิสระและเวลาส่วนพระองค์น้อยลง ทรงอุทิศเวลาให้สังคมและประโยชน์ส่วนรวม

พระราชกิจที่ทรงบำเพ็ญอยู่แยกได้เป็น ๓ ทาง คือ

พระราชกิจเนื่องด้วยพระบรมชนกนาถ เช่น กิจการลูกเสือ เนตรนารี กรมการรักษาดินแดน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินซ์รอแยลวิทยาลัย มูลนิธิวชิรพยาบาล มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นองค์ประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ประธานคณะกรรมการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์

พระราชกิจสืบเนื่องของสมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ทรงสร้างสถาบันการศึกษาไว้ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหลายแห่ง ได้แก่ โรงเรียนราชินี โรงเรียนเสาวภา วิทยาลัยพยาบาลศิริราชพยาบาล โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนราชินีบูรณะ ที่จังหวัดนครปฐม โรงเรียนวิเชียรมาตุที่จังหวัดตรัง เป็นต้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงตั้งมูลนิธิสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยให้ทุนแก่นักเรียนที่เยนในสถาบันดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเชิดชูพระเกียรติและกรุณาธิคุณให้อนุชนได้ระลึกถึงพระองค์ผู้พระราชทานกำเนิดสถานศึกษาเหล่านั้น

เป็นองค์อุปถัมภ์กิจการเกี่ยวกับสังคมสงเคราะห์ การศึกษา การทหารและพระศาสนาประมาณ ๑๘ องค์การ


เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานพระยศทหารเป็นพันโทราชองครักษ์พิเศษ และผู้บังคับการพิเศษ กองพันที่ ๒ กรมผสมที่ ๕ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือกองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑๕) และต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์

ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พะราชทานน้ำพระมหาสังข์และเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๑ พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันที่พระที่นั่งบรมพิมานและทรงร่วมโต๊ะเสวยด้วย

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศทหารเป็นพันเอก (พิเศษ) นาวาเอก (พิเศษ) นาอากาศเอก (พิเศษ) และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายร้อยโรงเรียนพระจุลจอมเกล้า ประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนทหารเรือ กรมยุทธศึกษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ และกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๓๔ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลถวายปริญญาคหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาการครอบครัวและเด็ก โดยที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในด้านส่งเสริมความสุขของเด็กและพัฒนาการครอบครัวอย่างเด่นชัด อันได้แก่ การที่ทรงอุปถัมภ์กิจการเนตรนารี อนุกาชาด อาสากาชาด และทรงส่งเสริมการศึกษาในสถาบันต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

พ.ศ. ๒๕๔๐ สถาบันราชภัฏธนบุรีถวายปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะศาสตร์อุตสาหกรรมบริหาร โปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีพระจริยวัตรงดงาม ทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตา ทรงรักษาศีล ๕ ได้อย่างบริสุทธิ์ และที่สำคัญยิ่งคือ มีพระกตัญญูต่อสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระชนนีเป็นอย่างยิ่ง จะทรงจัดดอกไม้ จุดูธูปเทียนบูชาพระบรมทนต์และพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระชนนีทุกเวลาค่ำ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงมีพระกรุณาธิคุณ รับ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๙ และทรงพระกรุณาเสด็จพระราชทาน ประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำทุกปี นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จทรงเป็นประธานในงาน ๓๐ ปี   ราตรีพณิชยการศิษย์ครูเพทาย ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖ ทั้งยังพระราชทานเงิน จำนวน ๑ แสนบาท เพื่อก่อตั้ง สมาคมศิษย์เก่าพณิชยการสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี ตราบจนปัจจุบัน นับเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่ ที่ได้รับพระเมตตาจากองค์พระอุปถัมภ์เสมอมา